สรุปข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมการเผาในที่โล่ง
การเผาในที่โล่งเป็นเหตุรำคาญ ตามมาตรา 25 แห่งพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ.2535 กรณีมีการเผาขยายเปฌนวงกว้างในพื้นที่อาจเป็นสาธารณภัยตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 ซึ่งหน่วยงานของรัฐสามารถใช้อำนาจตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินการกับผู้กระทำความผิด โดยกำหนดมาตรการตามกฎหมายและบังคับใช้กฎหมายให้เกิดผลทางปฏิบัติ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ในการลดปัญหามลพิษทางอากาศ โดยการเผาในที่โล่งอาจเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายฉบับขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงและการกำหนดมาตรการตามกฎหมาย ดังนี้
การเผาในพื้นที่เอกชน
1.ผู้ฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน ปรับไม่เกิน 2,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (พรบ.ป้องกันและบรรเทาสารธารณภัย พ.ศ.2550)
2.ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงานที่สั่งให้ระงับการเผา ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 25,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (พรบ.การสารธารณสุข พ.ศ.2535)
การเผาในพื้นที่สารธารณะ
1.ผู้ฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน ปรับไม่เกิน 2,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (พรบ.ป้องกันและบรรเทาสารธารณภัย พ.ศ.2550)
2.ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงานที่สั่งให้ระงับการเผา ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 25,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (พรบ.การสารธารณสุข พ.ศ.2535)
การเผาในพื้นที่ข้างทางหรือ ถนน
ห้ามมิให้ผู้ใดเผาหรือกระทำการด้วยประการใดๆ เป็นเหตุให้เกิดควันหรือสิ่งอื่นใด ที่อาจทำให้ไม่ปลอดภัยแก่การจราจรในทางเดินรถ ผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษไม่เกิน 1,000 บาท (พรบ.จราจรทางบก พ.ศ.2522)
การเผาในพื้นที่ป่าไม้
ผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ถ้าลุกลามเนื้อที่เกินกว่า 25 ไร่ ผู้กระทำความผิดต้องระวางโทษจำคุก ตั้งแต่ 2 - 5ปี และปรับตั้งแต่ 10,000 - 100,000 บาท (พรบ.ป่าไม้ พ.ศ.2484)
การเผาในพื้นที่เกษตรกรรม
1.ผู้ใดเผาในที่โล่ง จนน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลอื่นหรือทรัพย์ของผู้อื่นต้องระว่างโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี และปรับไม่เกิน 140,000 บาท (ประมวลกฎหมายอาญา)
2.ผู้ใดกระทำให้เกิดเพลิงไหม้โดยประมาทและเป็นเหตุให้ทรัพย์สินของผู้อื่นเสียหาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั่งจำทั้งปรับ (ประมวลกฎหมายอาญา)
หากการกระทำตามประเภทของการเผาดังกล่าวข้างต้นก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นชีวิต ร่างกาย อนามัย เสรีภาพ ทรัพย์สิน หรือสิทธิอย่างใดอย่างหนึ่ง ผู้นั้นต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เสียหาย ในฐานความผิดละเมิด (มาตรา 420) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
|