เทศบาลตำบลเขาบายศรี อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี :www.khaosukim.go.th

 
 

 

 

ประวัติความเป็นมา


ประวัติเทศบาลโดยย่อ

เทศบาลตำบลเขาบายศรี เดิมมีฐานะเป็นสภาตำบลชื่อว่า    “สภาตำบลเขาบายศรี”  อยู่ในเขตตำบลเขาบายศรี อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี         ต่อมาได้รับการเปลี่ยนแปลงยกฐานะเป็นองค์การบริหารส่วนตำบลเขาบายศรี โดยประกาศกระทรวงมหาดไทยตามพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537  มีผลบังคับใช้ เมื่อวันที่ 30  มีนาคม พ.ศ. 2539 และต่อมาได้ประกาศจัดตั้งเป็นเทศบาลตำบลเขาบายศรี มีผลตั้งแต่วันที่  25  กรกฎาคม 2551 เป็นต้นมา

ประวัติความเป็นมาของ  เขาบายศรี 
..........ครั้งหนึ่งนานมาแล้วภูเขาลูก นี้ยังไม่มีชื่อเรียก ชาวบ้านที่มาตั้งบ้านเรือนอยู่ใกล้เคียงรุ่นแรก ๆ ยังมีไม่กี่หลังคาเรือน พลเมืองน้อย  ที่รกร้างว่างเปล่ามีมาก วันขึ้น  15  ค่ำ  เวลากลางคืนมักได้ยินเสียงคล้ายเสียงดนตรีลอยมาจากภูเขาลูกนี้  ชาวบ้านก็มีความเกรงกลัวสิ่งศักดิ์สิทธิ์ บ้างก็ว่าเป็นภูตผีปีศาจมาหลอกหลอนวิพากษ์วิจารณ์กันไปต่าง ๆ  
..........จนคืนหนึ่งเทพยดาที่สิงสถิตอยู่บนภูเขาลูกนี้ก็มาเข้าฝันชาวบ้านคนหนึ่ง สมมติชื่อว่านางพลอย  ซึ่งต้องการทำบุญถวายอาหารแก่พระธุดงค์แต่ขาดถ้วยชามที่สวยงาม เป็นเทพสังหรณ์ว่าให้ไปที่ภูเขาลูกนี้ จุดธูปอธิษฐานที่หน้าปากถ้ำ เพื่อขอยืมถ้วยชามที่สวยงามจากเทพยดาผู้ศักดิ์สิทธิ์ ปากถ้ำก็จะเปิดออก เมื่อเสร็จงานแล้วก็จงเอาถ้วยชามมาคืนที่เดิม นางพลอยก็ปฏิบัติตามในฝัน ซึ่งได้ผลเป็นไปตามความฝันทุกประการ ส่วนเพื่อนบ้านชื่อนางฟักเห็นถ้วยชามที่สวยงามและรู้วิธีขอยืมจากปากของนาง พลอยก็มีความโลภอยากได้บ้าง จึงไปที่ภูเขาจุดธูปอธิษฐานขอยืมถ้วยชาม ทันใดปากถ้ำก็เปิดออก ก็มีถ้วยชามสวย ๆ งาม ๆ เต็มไปหมด นางฟักก็ตื่นเต้นและขนถ้วยชามออกจากถ้ำเต็มที่ เอาไปบ้านและไม่ต้องการจะส่งคืน พอถึงคืนเดือนเพ็ญ 15 ค่ำ เสียงดนตรีจากภูเขาลูกนี้ก็ดังขึ้นอีก เป็นเสียงดนตรีที่มีความไพเราะเพราะพริ้งสำหรับคนอื่น ๆแต่กับนางฟักและครอบครัวแล้วก็เป็นเสียงดนตรีที่รบกวนโสตประสาทเป็นอันมาก คล้าย ๆ กับเจ้าของถ้วยชามในถ้ำบนภูเขากำลังเรียกร้องให้เอาของไปคืน จิตใจของนางฟักมีแต่ความร้อนรุ่ม กระวนกระวายหาความสงบมิได้ 
..........จึงปรึกษากันภายในครอบครัวว่าจะต้องเอาของไปคืนและขอสมาลาโทษต่อสิ่ง ศักดิ์สิทธิ์ เจ้าป่าเจ้าเขาเจ้าของถ้วยชามนั้น พอสิ้นเสียงปรึกษาหารือกันแล้ว  เสียงดนตรีที่รบกวนก็หยุดเงียบลง ทุกคนขนลุกเกรียวด้วยความหวาดกลัว วันรุ่งขึ้นนางฟักและลูกหลานก็ช่วยกันทำบายศรีใบตองสด บรรจุข้าวสุก ไข่ต้มและเครื่องเซ่นบูชาอื่น ๆเก็บถ้วยชามสวยงามที่ยืมมา พากันไปที่ปากถ้ำบนภูเขาพอตั้งบายศรีลงแล้วก็จุดธูปอธิษฐานขอสมาลาโทษต่าง ๆ พร้อมกับขอสำนึกผิด และขอคืนถ้วยโถโอชามที่ยืมไปนำมาคืน ปากถ้ำก็เปิดออก นางฟักและลูกหลานก็นำถ้วยชามต่าง ๆ เข้าไปเก็บคืนเข้าที่เดิมพากันกลับมาที่อยู่อาศัยต่อไปยังมีชาวบ้านคนอื่น รู้กิตติศัพท์เรื่องนี้ ก็พากันจุดธูปอธิษฐานขอยืมถ้วยชามบ้างแต่ประตูก็ไม่เปิดออกมาอีกเลย เห็นแต่บายศรีนั้นตั้งเด่นอยู่ 
..........จึงพากันเรียกภูเขาลูกนี้ว่า “เขาบายศรี” กันต่อ ๆ มา ภายหลังมีผู้คนเพิ่มขึ้นก็เรียก “บ้านเขาบายศรี” เมื่อชาวบ้านช่วยกันสร้างวัดประจำหมู่บ้านก็ตั้งชื่อว่า “วัดเขาบายศรี”เมื่อพลเมืองเพิ่มมากขึ้นแบ่งแยกเป็นตำบลเพื่อสะดวกในการ ปกครองจึงเรียกชื่อว่า “ตำบลเขาบายศรี”